เช็ก ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง หมวดไหนเพิ่มขึ้น-ถูกลงบ้าง จับตาเดือนหน้าแพงต่อ
2025-05-06 IDOPRESS
เช็ก ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ภาพรวมแพง ยางมะตอย ซีเมนต์ ไฟฟ้า ประปา เพิ่มสูงสุด แต่หลายหมวดราคาลดลง จับตาเดือนหน้าแพงต่อ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน เม.ย. 68 เท่ากับ 113.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนสูงขึ้น 0.8% โดยมีสาเหตุจากความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐทั้งโครงการใหม่และโครงการต่อเนื่อง รวมทั้งมีความต้องการใช้ในการซ่อมแซมอาคารและที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น โดยหากแยกรายละเอียดพบ ดังนี้
กลุ่มแพงขึ้น
หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ เพิ่มสูงสุด 5.9% จากการสูงขึ้นของยางมะตอย และวัสดุธรรมชาติ เนื่องจากมีความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างด้านคมนาคมของภาครัฐเพิ่มขึ้นหมวดซีเมนต์ สูงขึ้น 4.1% จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากมีความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างภาครัฐ และการซ่อมแซมอาคารที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้น 2.1% จากการสูงขึ้นของสายไฟฟ้า สายส่งกำลังไฟฟ้า เครื่องตัดไฟอัตโนมัติ ตามการสูงขึ้นของราคาทองแดง และถังบำบัดน้ำเสีย หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้น 1.1% จากการสูงขึ้นของเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง และคอนกรีตผสมเสร็จ เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นทั้งค่าขนส่ง และราคาวัตถุดิบสำคัญหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้น 0.9% จากการสูงขึ้นของไม้พื้น ไม้แบบ วงกบประตู และวงกบหน้าต่าง จากความต้องการใช้ที่ขยายตัวทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นหมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้น 0.2% จากการสูงขึ้นของสีทาถนนชนิดสะท้อนแสง และน้ำมันเคลือบแข็งภายในและภายนอก
กลุ่มราคาลดลง
เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลง 2.6% จากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย เหล็กตัวเอช และท่อเหล็กดำ เนื่องจากมีอุปทานเหล็กในตลาดสูง และราคาวัตถุดิบลดลง (บิลเล็ต เศษเหล็ก) หมวดกระเบื้อง ลดลง 1.2% จากการลดลงของกระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา กระเบื้องเคลือบบุผนัง และกระเบื้องยาง พีวีซีปูพื้น จากความต้องการใช้ลดลงตามการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ หมวดสุขภัณฑ์ ลดลง 1.7% จากการลดลงของโถส้วมชักโครก ฝักบัวอาบน้ำ และราวจับสเตนเลส
ส่วนแนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน พ.ค. 68 มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมาย ส่งผลให้การก่อสร้างภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น การลดค่าโอนและจดจำนองอสังหาริมทรัพย์เหลือ 0.01% การผ่อนปรนเกณฑ์สินเชื่อ แอลทีวี และการปรับลดลงของดอกเบี้ยนโยบาย