รู้จัก’พ.ร.บ.กากฯ’เก็บกวาดฉบับแรกของไทย ปิดประตูไทยไม่ใช่ที่ทิ้งขยะโลก ผิดจ่ายกองทุนอ่วม!
2025-05-06 HaiPress
หลังจาก “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” รมว.อุตสาหกรรม ได้ประกาศบนเวที Sustain Daily Talk 2025 จัดโดย “เดลินิวส์” เสียงดังฟังชัด “เราต้องปิดประตูตายนำเข้าขยะของเสียกากอุตสาหกรรมเข้าประกาศ ต้องหยุดให้ประเทศไทย เป็นกองขยะของโลก ใครทำผิดต้องจ่ายเงินเยียวยา”
เป็นหนึ่งในที่มาของการออกร่างพระราชบัญญัติจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ… ซึ่งเป็นกฎหมายดูแลด้านการกำจัดขยะอุตสาหกรรมครั้งแรกของประเทศไทย จากก่อนหน้านี้การกำจัดขยะอุตสาหกรรม อยู่ภายใต้การดูแลของพ.ร.บ.โรงงานเท่านั้น
แล้วพ.ร.บ.กากฯ ฉบับนี้ ที่อยู่ระหว่างการฟังความคิดเห็น มีอะไรน่าสนใจที่จะสามารถหยุดประเทศไทยเป็นกองขยะของโลกได้ มีทั้งเพิ่มโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี และมีการเพิ่มโทษปรับสูงสุด 20 ล้านบาท เพื่อนำเข้ากองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืน
“อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” ประธานคณะที่ปรึกษารมว.อุตสาหกรรม ด้านยุทธศาสตร์ คีย์แมนสำคัญในการร่างพ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม ฉายภาพให้เห็นถึงการทำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวว่า ส่วนหนึ่งศึกษามาจากฎหมายของประเทศญี่ปุ่นที่มีความเข้มข้นโดยหัวใจสำคัญของพ.ร.บ.นี้ คือ ปิดประตูตายการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพราะไทยไม่ใช่กองขยะของโลก ตามที่ “รมต.เอกนัฏ” ประกาศ
พ.ร.บ.นี้ ใช้กับใคร?
โรงงานประเภท 101 คือ โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม
โรงงานประเภท 105 คือ โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฎิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว
โรงงานประเภท 106 คือ โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม ที่เคยอยู่ในกำกับพ.ร.บ.โรงงานต้องเปลี่ยนมาอยู่ให้กำกับของพ.ร.บ.กากฯ
พ.ร.บ.นี้ ต่างจากกฎหมายเดิมอย่างไร?
“อรรถวิชช์” ระบุว่า เดิมใช้พ.ร.บ.โรงงาน เวลาที่โรงงานกำจัดขยะฯ ทำผิดโดยเอาขยะพิษไปฝังกลบแทนที่จะกำจัดอย่างถูกวิธี ฝ่ายรัฐเราทำได้แค่สั่งปิดโรงงาน มีโทษปรับไม่สูง ไม่สมส่วนกับความเสียหายที่กระทบกับประชาชนในวงกว้าง เกิดการทำผิดซ้ำซาก คดีความใช้เวลาหลายปีรอผลคดี ต่อให้ชนะคดีผู้กระทำผิดติดคุก ล้มละลายไปแล้ว ก็ไม่มีเงินพอมาเยียวยาประชาชน และขยะอุตสาหกรรมก็ยังอยู่ตรงนั้น สารพิษก็ยังอยู่อย่างนั้น ไร้งบประมาณ ไร้กลไกจัดการเบ็ดเสร็จ
แต่กฎหมายฉบับนี้ถูกออกแบบให้มีผู้รับผิดชอบตั้งแต่ ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ก่อกำเนิด ผู้ขนส่ง ผู้รวบรวม ผู้กำจัด ต้องรับผิดชอบกากอุตสาหกรรมจนกว่าจะมีการจัดการแล้วเสร็จ รวมถึงสร้างกลไกเก็บกู้กาก เยียวยาประชาชนในพื้นที่ทันทีไม่ต้องรอคดีถึงที่สุดเพราะกฎหมายฉบับนี้จะมีการตั้งกองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืน ไปทำหน้าที่สนับสนุนด้านการเงิน และเป็นผู้แทนฟ้องร้องคดีแทนประชาชน
แล้วใครได้ประโยชน์?
“ประชาชน” ไม่ต้องมาลําบากรอผลคดี กองทุนฯ จะเป็นหน้าเสื่อลุยฟ้องคดีให้ เยียวยาให้ก่อน เก็บกู้กากให้ทันที ถือเป็นครั้งแรกที่จะมีกระบวนการเหล่านี้ ปัจจุบันใช้เวลานานและสารพิษก็กระจายออกไปก่อนเสียแล้ว
โรงงานงานกำจัดกากอุตสาหกรรม จะมีความแตกต่างจากโรงงานทั่วไปตาม พ.ร.บ.โรงงาน เช่น
– ต้องต่อใบอนุญาตทุก 3 ปี ขณะที่โรงงานทั่วไปไม่มีการต่อใบอนุญาต คือ เราจำเป็นต้องตรวจสอบใกล้ชิด
– ต้องทำประกันกับบริษัทประกันภัย และวางประกันเงินประกันที่กองทุนฯ เพื่อรองรับความเสียหายในอนาคต! คล้าย ธนาคาร กับสถาบันประกันเงินฝาก เช่น โรงกำจัดขยะไหนทำผิด รัฐก็จะเอาเงินที่วางประกันไว้ในกองทุนไปใช้ก่อน ซึ่งจะเกิดการตรวจสอบกันเองด้วยว่า ใครเป็นคนมีปัญหากับสังคมที่จะทำให้เงินประกันของส่วนร่วมลดลง ซึ่งในอนาคตหากเงินกองทุนเก็บวงเงินแล้วก็สามารถงดการนำส่งได้ โดยเงินกองทุนยังมีที่มาอีกหลายทางเช่น เงินค่าธรรมเนียม ค่าปรับ เงินอุดหนุนจากรัฐบาล เป็นต้น
ประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติม เช่น
– ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีส่วนรับผิดชอบในขยะ อิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทตนเองด้วยคล้ายกับประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นเราอาจได้เห็นการออกโปรโมชั่นเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าแลกใหม่ที่หลากหลายมากขึ้นด้วย
– ผู้รวบรวม ผู้กำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ ภาพการมานั่งคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ในชุมชนจะไม่มีอีกต่อไป หากไม่ได้รับใบอนุญาตซึ่งถ้าทำไม่ถูกวิธี สารต่างๆ รั่วไหล จะเกิดอันตรายกับชุมชนพื้นที่ได้
– ซากรถที่จอดทิ้งบนถนน จะถูกนำกำจัด! เพราะซากรถยนต์ เป็นหนึ่งในขยะอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน หากมีใครนำซากรถมาจอดทิ้งไว้ตามพื้นที่สาธารณะ ที่รกร้าง ทางสัญจร หรือที่ดินผู้อื่น ถ้าทิ้งไว้นานจนมีผู้ร้องเรียน ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นปิดประกาศที่ซากรถยนต์ หรือแจ้งให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองซากรถยนต์ ย้ายซากภายใน 30 วัน ถ้าไม่มีการย้ายซากรถยนต์ภายในกำหนด เจ้าพนักงานอาจมีคำสั่งกำจัดซากดังกล่าวได้
“เรื่องการลงโทษ เป็นอัตราโทษหนักเกี่ยวข้องกับการนําเข้าขยะซึ่งโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี คล้ายของกรมศุลกากร แต่โทษปรับมากกว่ากรมศุลกากร เพราะเป็นวัตถุอันตราย โดยค่าปรับจะเอาเข้าไปอยู่ในกองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืน พ.ร.บ.นี้เป็นเหมือนกฎหมายเก็บกวาดประเทศ ซึ่งร่างพ.ร.บ. เป็นการวางกรอบหลักการ และจะมีการออกกฎหมายลูกอีกหลายตัว เพื่อให้กลไกของกฎหมายสมบูรณ์ ถึงเวลาเก็บกวาดอย่างจริงจังเสียที“