เริ่มใช้แล้ว คิวอาร์ บุหรี่ แปะทุกซอง สแกนก่อนซื้อ แก้ปัญหาบุหรี่เถื่อน
2024-11-15 HaiPress
กฎหมายใหม่เริ่มบังคับใช้แล้ว คิวอาร์ บุหรี่แปะทุกซอง แนะประชาชนสแกนก่อนซื้อ หลังบุหรี่เถื่อนระบาดหนัก
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาปัญหาบุหรี่เถื่อนได้มีการแพร่กระจายเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ จนกระทบในหลายมิติ ทั้งทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ ขณะที่ประชาชนก็มีความเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ที่ไม่ได้มาตรฐานและเป็นโทษต่อสุขภาพมากขึ้น ดังนั้น กรมสรรพสามิตจึงได้เปิดตัวระบบคิวอาร์ บุหรี่ เพื่อติดตามและแกะรอยบุหรี่ทุกซอง เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นสินค้าที่ได้เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยกฎหมายเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.เป็นต้นไป และคาดว่าหลังจากนั้น 1-2 วัน บุหรี่ที่ผลิตในประเทศ และมีคิวอาร์โค้ดแปะข้างซองจะเริ่มวางขายในตลาด ส่วนบุหรี่ต่างประเทศ จะยังไม่มีคิวอาร์โค้ด เพราะจะให้ระยะเวลาปรับตัวอีก 1 ปี
“การนำระบบตรวจสอบติดตามและแกะรอย คิวอาร์ บุหรี่มาใช้นั้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี และยกระดับการดำเนินงานที่โปร่งใสสอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มใช้กับบุหรี่ที่ผลิตในประเทศแล้วและแผนต่อไปจะมีการขยายไปใช้คิวอาร์ โค้ดในผลิตภัณฑ์สุราด้วย”
สำหรับเทคโนโลยีคิวอาร์ บุหรี่ จะเป็นการติดตามข้อมูลตั้งแต่ ณ สถานที่ผลิต ไปจนถึงผู้บริโภค และนำข้อมูลทั้งหมดมาสร้างเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊ก ดาต้า) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายต่างๆ
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีและแหล่งที่มาของบุหรี่ว่าเป็นบุหรี่ที่ผ่านการตรวจวิเคราะห์โดยกรมสรรพสามิตแล้วหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเป็นบุหรี่ที่ได้มาตรฐานและไม่เป็นของปลอม ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค
นายเผ่าภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า แสตมป์สรรพสามิตในปัจจุบันนั้น มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อป้องกันการปลอมแปลงที่ทันสมัยใกล้เคียงกับการพิมพ์ธนบัตร ซึ่งแต่ละซองจะมีรหัสไม่ซ้ำกันบนดวงแสตมป์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่และประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลบนดวงแสตมป์นั้นได้
สำหรับวิธีตรวจสอบ ประชาชนสามารถทำได้โดยการนำโทรศัพท์มือถือสแกนคิวอาร์โค้ดบนดวงแสตมป์สรรพสามิต ซึ่งจะมีการแสดงข้อมูลต่างๆ ปรากฏขึ้น อาทิ ตราสินค้า รายละเอียดสินค้า ชื่อผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้า วันที่ชำระภาษี สถานที่จัดส่ง และราคาสินค้า โดยผู้ซื้อสามารถตรวจเช็กว่าข้อมูลเหล่านี้ตรงตามกับสินค้าที่กำลังจะซื้อหรือไม่ หากพบว่าข้อมูลของสินค้ากับข้อมูลที่ปรากฏไม่ตรงกัน
“ผู้ซื้อก็ควรหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้านั้น เพราะเป็นสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิตและไม่ผ่านการตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานของสินค้านั้นๆ ซึ่งหากบริโภคเข้าไป ก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และมีข้อสงสัยว่าอาจเป็นสินค้าปลอม ก็สามารถแจ้งมายังกรมสรรพสามิตได้ด้วยการกดปุ่มแจ้งเบาะแสที่แสดงในหน้าจอโทรศัพท์ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบความถูกต้องของสินค้านี้ด้วย”