YLG ชี้ทองคำยังปรับขึ้นได้อีก 2 ปี มีโอกาสลุ้น 50,000 บาท

2024-11-05 HaiPress

YLG ชี้ทองคำยังปรับขึ้นได้อีก 2 ปี มีโอกาสลุ้น 50,000 บาท หากเงินบาทไม่ผันผวน

น.ส.ฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (วายแอลจี) เปิดเผยว่า ทิศทางราคาทองคำในภาพใหญ่และเร็วๆ นี้ยังเป็นขาขึ้น แม้ล่าสุดทำจุดสูงสุดใหม่ 2,790 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์แล้ว แต่หากทะลุเป้าหมายในปี 67 นี้ได้ที่ 2,800-2,850 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ มีโอกาสขึ้นทดสอบเป้าหมายต่อไปที่ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ในปี 68  โดยทองคำแท่งในประเทศ ก็จะได้เห็นโซน 50,000 บาทต่อบาททองคำ หากค่าเงินบาทไม่ผันผวน และอ่อนค่ามาที่โซน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  เนื่องจากทิศทางระยะ 2 ปี ทองคำยังเป็นขาขึ้น 

ทั้งนี้ ปัจจัยบวกยังคงแข็งแกร่งจากนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีทิศทางเป็นขาลงอีก 2 ปี แม้จะมีการเลือกตั้งเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาในระยะสั้น แต่ในระยะยาวการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจนั้นยังต้องระมัดระวัง ดังนั้นแม้ระยะสั้นทองคำอาจผันผวนมากขึ้น แต่ในระยะถัดไปทองคำจะยังคงทำหน้าที่สินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงนโยบายยังไม่มีความชัดเจน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ทองคำปรับตัวขึ้นในระยะยาว คือ ธนาคารกลางทั่วโลกที่เข้ามาสะสมทองคำต่อเนื่อง ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้าที่จะมีลักษณะการสะสมทองคำแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ปัจจุบันธนาคารกลางกลายเป็นผู้ซื้อทองคำในสัดส่วนถึงปีละ 25% จึงมองว่าสาเหตุที่ธนาคารกลางสะสมทองคำอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ มาจากกระแสการลดการถือครองดอลลาร์สหรัฐของหลายๆประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศบริกส์ ที่มีท่าทีลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐในการค้าระหว่างประเทศเหล่านี้ชัดเจนยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องจับตาในความขัดแย้งตะวันออกกลางยังเป็นอีกปัจจัยหนุนทองคำ ถึงแม้จะเป็นปัจจัยที่ตลาดรับรู้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเหตุการณ์จะลุกลามขยายวงกว้างหรือไม่

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 ข่าวการเงินกรุงเทพธุรกิจ      ติดต่อเรา   SiteMap