‘คลัง-ธปท.-แบงก์’ ถกร่วมแก้หนี้ครัวเรือน ‘บ้าน-รถ’ รอข้อสรุปใช้ทันปีนี้

2024-11-04 HaiPress

นายแบงก์ไม่ขัด! คลัง-แบงก์ชาติ-สมาคมธนาคารไทย ถกร่วมเร่งแก้หนี้ครัวเรือน ลุยเน้นหนี้บ้าน-รถ รอข้อสรุปผล คาดมีผลทันปีนี้

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมระหว่างสมาคมธนาคารไทย,กระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา มุ่งเน้นในเรื่องของมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนเป็นหลัก ไม่ได้มีการหารือกันเรื่อง LTV (Loan to Value) ในรอบนี้

สำหรับมาตรการแก้หนี้ในครั้งนี้ มุ่งเน้นเรื่องสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถเป็นหลัก การหารือดังกล่าวยังเหลือขั้นตอนสุดท้ายคือการหารือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับกระทรวงการคลังในการสรุปผลมาตรการก่อนออกประกาศใช้

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐพยายามเร่งผลักดันมาตรการดังกล่าวให้สามารถใช้ได้ทันภายในปีนี้ มั่นใจว่า หากมาตรการนี้ออกมาใช้อย่างเป็นทางการ จะทำให้อุตสาหกรรมธนาคารตัดขายหนี้ออกให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ในท้องตลาดลดลงมาก เรียกได้ว่า “ลดลงฮวบจนผู้รับซื้อหนี้เสียมีเหงาแน่นอน”

ทั้งนี้ยังรอทางนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และนายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้แถลงรายละเอียดอย่างเป็นทางการอีกครั้ง สำหรับบรรยากาศการร่วมประชุมครั้งนี้ เป็นไปด้วยดี ภาคธนาคารทุกรายเห็นชอบกับมาตรการที่หารือและพร้อมสนับสนุน

นายปิติ กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนและรายละเอียดต่างๆ ของโครงการ รวมถึงการดูแลในส่วนของรายได้ที่ธนาคารจะสูญเสียไปนั้น ทางธปท.และกระทรวงการคลังจะต้องดำเนินการต่อไป และจะมีรายละเอียดออกมาหลังจากนี้ ซึ่งจะพยายามออกมาให้เร็วที่สุด เพราะสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันถือว่าหนักแล้ว

ดังนั้น เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามาช่วยกัน เพื่อไม่ให้สถานการณ์แย่ลงไปกว่านี้ เพราะตอนนี้เมื่อหนี้มีปัญหามากเข้า ธนาคารเองก็ต้องเข้มงวดในการปล่อยกู้ ทำให้วนกลับไปสู่ธุรกิจและระบบเศรษฐกิจที่ไม่มีเงินไปหมุนเวียนต่อเนื่อง มั่นใจว่า เมื่อมีมาตรการนี้ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาก็ช่วยให้ภาพรวมด้านต่างๆ เริ่มดีขึ้น

นายปิติ กล่าวว่า การหารือดังกล่าว มองเรื่องของการช่วยเหลือลูกหนี้และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้บ้านและรถยนต์ได้ โดยมียอดค้างชำระไม่เกิน 360 วันนั้น มีหลักการใน 2 ประเด็นหลัก คือ

1.การช่วยเหลือลูกค้าที่เป็นคนตัวเล็กที่ไม่มีกำลังจะผ่อนชำระสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถได้ โดยลูกหนี้ที่เข้าโครงการจะได้พักชำระดอกเบี้ย ผ่อนชำระเงินต้นเท่านั้น และหากสามารถทำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็จะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยในส่วนที่พักไว้

2.ต้องตระหนักว่าการเข้ามาตรการดังกล่าวก็จะมีผลกระทบส่วนหนึ่ง คือ จะต้องมีการหยุดก่อหนี้ระยะหนึ่ง หากไม่สามารถทำได้ก็จะยุติการพักดอกเบี้ย กลับเข้าสู่สถานะการผิดนัดชำระหนี้ตามเดิม โดยมาตรการดังกล่าวคงจะเป็นมาตรการระยะยาวใช้ระยะเวลาประมาณ 3-5 ปี

ทั้งนี้ ตนเองในฐานะหนึ่งในคณะทำงานเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน มองว่า มาตรการนี้โดยหลักๆ แล้วต้องการช่วยคนตัวเล็ก เป็นคนดี ยังอยากจะสู้ แต่สู้ไม่ไหว เนื่องมาจากปัญหาที่ลากยาวมาตั้งแต่โควิด-19 จนถึงปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน และการที่เราเลือกหนี้บ้านและรถ เพราะว่าเราไม่อยากให้เกิดการยึดที่อยู่อาศัยซึ่งบางส่วนก็เป็นสถานที่ประกอบการสำหรับเอสเอ็มอี

รวมถึงการยึดรถยนต์ที่เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพ เพราะหนี้กลุ่มนี้เป็นหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องโดนยึดบ้านหรือรถไป แต่ก็ต้องเข้าใจว่ามาตรการต่างๆ ก็ต้องมีผลข้างเคียง หากเราไม่จำกัดการก่อหนี้เพิ่มก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนได้ และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์จงใจผิดนัดชำระหนี้เพื่อถือโอกาสให้ได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว

“เราเปรียบเทียบตรงนี้เหมือนเข้าไปรักษาการคนที่เป็นมะเร็งในระดับเยอะแล้ว ก็ต้องมีการให้คีโมซึ่งก็รู้กันอยู่ว่าจะต้องมีผลกระทบกับผู้ได้รับ แต่ก็มีโอกาสที่คุณจะรอดแล้วกลับมาใช้ชีวิตหรือทำมาหากินต่อไปได้ แต่ก็ต้องทำใจเช่นกันว่า มีส่วนหนึ่งที่จะกลับมาไม่ไหว เพราะสถานการณ์ที่เป็นอยู่ถือว่าไม่น้อย”

ขณะเดียวกัน กลุ่มที่คิดจะถือโอกาสหยุดชำระหนี้เพื่อให้ได้รับการพักดอกเบี้ย ก็ไม่ควรจะเข้ามา เพราะมีผลข้างเคียงที่ไม่น้อยเช่นกัน จะต้องโดนคุมความประพฤติเรื่องการก่อหนี้ที่เข้มงวด ซึ่งจากตัวเลขเอ็นพีแอลของระบบที่ประมาณ 3% ก็หมายความว่า สินเชื่อบ้าน-สินเชื่อรถที่อยู่ใน 3% นี้สามารถเข้าโครงการได้หมด

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 ข่าวการเงินกรุงเทพธุรกิจ      ติดต่อเรา   SiteMap