ตลท. เตือนนักลงทุนศึกษางบลงทุน EAหลังลูกหนี้NEX ค้างชำระ

2024-09-17 HaiPress

ตลท. เตือนนักลงทุนศึกษางบลงทุน EA หลังลูกหนี้การค้าจาก NEX ค้างชำระจำนวนมาก พร้อมสั่งชี้แจงแผนตามทวงหนี้-การตั้งสำรองฯ และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ โดยให้ชี้แจงภายในวันที่ 1 ต.ค. นี้

รายงานข่าวจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และ บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD เนื่องจากมีลูกหนี้การค้ากิจการที่เกี่ยวข้องกันที่ค้างชำระในจำนวนที่มีนัยสำคัญจากกลุ่ม บมจ. เน็กซ์ พอยท์ (NEX) และ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) โดยมีรายละเอียดดังนี้


ขอให้ EA ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 2/67 เนื่องจากบริษัทมีลูกหนี้การค้ากิจการที่เกี่ยวข้องกันที่ค้างชำระในจำนวนที่มีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ลูกหนี้ค้างชำระส่วนใหญ่เป็นการขายรถให้ NEX ซึ่งได้ยกเลิกการเพิ่มทุน โดยอาจกระทบต่อการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และสภาพคล่องของ EA อย่างมีนัยสำคัญ จึงขอให้ชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 1 ต.ค. 67 โดยขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ EA และติดตามคำชี้แจงของบริษัท

โดยข้อมูลจากกงบการเงิน Q2/67 ของ EA ชี้แจงว่า รายได้จากธุรกิจยานยนต์ เป็นหนึ่งในรายได้หลักของบริษัท คิดเป็น 38% และ 22% ของรายได้ขายปี 66 และ 6 เดือนปี 67 และมีลูกหนี้กิจการที่เกี่ยวข้องกันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเกือบทั้งหมดค้างชำระเกิน 3 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยอดค้างชำระจาก NEX


ซึ่งในวันที่ 5 ก.ค. 67 NEX แจ้งมติเพิ่มทุน โดยจำนวน 3,538 ล้านบาท นำมาชำระคืนเจ้าหนี้การค้า AAB (บริษัทย่อยของ EA และเป็นบริษัทร่วมของ NEX) ภายในปี 67 และขยายการลงทุนธุรกิจผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของ AAB ต่อมา 2 ก.ย. 67 NEX แจ้งยกเลิกการเพิ่มทุน

โดย ตลท. ขอให้คณะกรรมการบริษัทให้ความเห็นในประเด็น ดังนี้ :

1. ความเพียงพอที่บริษัทบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 2%ของยอดหนี้ค้างชำระ

2. นโยบายและมาตรการติดตามลูกหนี้การค้าที่ค้างชำระ ผลกระทบต่อฐานะการเงิน สภาพคล่อง และการดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของ AAB และ EA

3. รูปแบบในการดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของ EA ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันที่ขายผ่าน NEX ตามรูปข้างต้นหรือไม่ อย่างไร รูปแบบดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์สุงสุดของบริษัทอย่างไร

4. นโยบายการดำเนินธุรกิจและผลประกอบการของ บ.เปย์ป๊อป ซึ่งเป็นบริษัทย่อย 100% และมาตรการติดตามการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อย

ด้าน BYD ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ BYD ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 2/67 ซึ่งมีรายได้หลักมาจากดอกเบี้ยรับเงินให้กู้ยืมกับ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) คิดเป็น 65% ของรายได้โดย TSB ขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 ปีส่งผลให้งวด 6 เดือนปี 67 บริษัทไม่มีกระแสเงินสดจากดอกเบี้ยรับ ซึ่งอาจกระทบต่อฐานะการเงิน การตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ผลการดำเนินงาน และสภาพคล่องของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ จึงขอให้ชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2567โดยขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ BYD และติดตามคำชี้แจงของบริษัท

โดยในงบการเงิน BYD พบว่า เงินให้กู้ยืมคิดเป็น 77% ของสินทรัพย์รวม โดยมีการวางหลักประกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นของบริษัทที่มีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ ทำให้มูลค่าหลักประกันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงกการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 ปี เริ่มชำระ 31 ม.ค. 70 ขณะที่รายได้หลักของ BYD มาจากดอกเบี้ยจาก TSB แต่ไม่ได้รับชำระดอกเบี้ยตั้งแต่ต้นปี 67

โดย ขอให้คณะกรรมการบริษัทให้ความเห็นในประเด็น ดังนี้

1. ผลกระทบจากการพักชำระหนี้ให้กับ TSB ต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และสภาพคล่องของบริษัท

2. นโยบายการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของเงินให้กู้ยืมกับ TSB เนื่องจากปี 2566 TSB มีผลการดำเนินงานขาดทุนและส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ

3. ความเพียงพอของมูลค่าหลักประกันเงินให้กู้ยืมกับ TSB และมาตรการดูแลความเสี่ยงและการดำเนินการของบริษัทในการดูแลลูกหนี้ TSB

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 ข่าวการเงินกรุงเทพธุรกิจ      ติดต่อเรา   SiteMap