เอกชนช็อก! ‘เศรษฐา’ พ้นนายกฯ ครม.หลุดทั้งคณะ หวั่นลงทุนชะงัก จับตานโยบายคนใหม่
2024-08-15 HaiPress
เอกชนช็อก! นายกฯ เศรษฐา ไม่ได้ไปต่อ หวั่นลงทุนชะงัก ชี้ประเทศไทยต้องการการเมืองที่มีเสถียรภาพและต่อเนื่อง จับตาต่อใครมานั่งแทน สานต่ออย่างไร
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญลงมติ 5 ต่อ 4 ให้ นายเศรษฐา ทวีสิน ขาดคุณสมบัติ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) หมดสภาพทั้งคณะด้วยว่า ยอมรับว่าช็อก!!! แล้วชะงัก เนื่องจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศต้องกลับไปทบทวน ว่าการลงทุนจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศฝั่งอเมริกา ยุโรป อาจให้น้ำหนักในเรื่องการเมืองมาก เรียกว่าซีเรียสเลยก็ว่าได้ ทำให้มีนักธุรกิจหลายรายต้องการความชัดเจน และมีการสอบถามพูดคุยกับทาง ส.อ.ท. อยู่ตลอดเวลา
“ผมคิดว่าช่วงนี้เป็นจังหวะสำคัญ และปัจจัยที่เป็นตัวที่พิจารณาสำหรับนักลงทุน คือ เรื่องการเมืองที่ไทยต้องมีการเมืองที่มีเสถียรภาพ หรือว่ามีความนิ่งและต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาไม่มีความต่อเนื่องมานาน การเปลี่ยนขั้วพรรคการเมืองตลอดเวลา ทำให้นโยบายที่รัฐบาลเคยขับเคลื่อนนั้นหยุดชะงักไป ขาดความต่อเนื่อง ซึ่งตั้งแต่มีคดีตลอดระยะเวลากว่า 80 วัน ทุกคนก็ชะลออยู่แล้ว และรอดูกันอยู่ว่าสถานการณ์จะเป็นยังไง ทุกฝ่ายมีการมอนิเตอร์ ติดตามผล เมื่อผลการตัดสินออกมาก็ถือว่าช็อก ทำให้การตัดสินใจลงทุนชะงัก”
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาในช่วงปี 1 ที่ผ่านมา ส่วนตัวคิดว่าเราต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลในชุดของนายเศรษฐา เพราะขึ้นมาเป็นรัฐบาลในช่วงที่เกิดความท้าทายของโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสงครามการค้า เรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ การที่ต้องเลือกข้าง การย้ายฐานการผลิตจำนวนมากที่ไม่เคยรุนแรงและเข้มข้นขนาดนี้มาก่อน รวมถึงปัญหาสะสมของประเทศไทย ที่ลึกไปเชิงโครงสร้างมาตั้งนาน แต่ว่าท่านนายกฯ ก็สามารถเข้ามาทำงาน ปรับตัวและใช้เวลาไม่มาก 3-4 เดือน ก็เริ่มพอเข้าใจในหน้าที่และมีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ได้
นอกจากนี้ ภาคเอกชนได้สะท้อนให้เห็นภาพแล้วว่าวันนี้ประเทศไทยมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้า รวมถึงมีความท้าทายมากมายที่เกิดขึ้นในโลก และประเทศไทยก็ยังอยู่ในช่วงที่จะต้องรีบเร่งสร้างความเชื่อมั่น สร้างการลงทุนใหม่ๆ เชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าทุกอุตสาหกรรมจะหยุดหมด เพราะก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของอุตสาหกรรมนั้นๆ ด้วย เพราะนักลงทุนทั้งโซนเอเชีย อย่างนักลงทุนจากญี่ปุ่น ที่ถือว่าเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของไทย และอยู่ในประเทศมา 40 – 50 ปี ก็อาจจะเริ่มเรียนรู้ และสามารถปรับตัวได้