8 เดือนแล้วยังไม่ฟื้น จัดเก็บรายได้รัฐบาลต่ำกว่าเป้า 2.6 หมื่นล้าน

2024-06-21 HaiPress

8 เดือนแล้วยังไม่ฟื้น จัดเก็บรายได้รัฐบาลต่ำกว่าเป้า 2.6 หมื่นล้าน เหตุลดภาษีน้ำมัน ขณะที่ฐานะการคลัง รัฐบาลกู้ชดเชยขาดดุลไปแล้วกว่า 4 แสนล้าน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 67 (ต.ค. 66–พ.ค. 67) ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 1.67 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 26,238 ล้านบาท หรือ 1.5% โดยยอดการจัดเก็บรายได้ 3 กรมจัดเก็บภาษีต่ำกว่าประมาณการ 2.4% สาเหตุสำคัญเป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตที่ต่ำกว่าประมาณการ

“กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีมาตรการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน ประกอบกับ การจัดเก็บภาษีรถยนต์และภาษียาสูบต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ โดยใน 8 เดือน สรรพสามิตเพิ่งจัดเก็บรายได้เพียง 349,564 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 13.3% ส่วนกรมสรรพากร และศุลกากรทำได้สูงกว่าเป้าหมายเล็กน้อย”

สำหรับการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี ในช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ รวมกันอยู่ที่ 1.74 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 43,085 ล้านบาท หรือ 2.4% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 44,109 ล้านบาท หรือ 2.6% แบ่งออกเป็น กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้อยู่ที่ 1.32 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 7,676 ล้านบาท และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 16,274 ล้านบาท

ด้านกรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้ที่ 349,564 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 53,496 ล้านบาท หรือ 13.3% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 35,869 ล้านบาท หรือ 11.4% และกรมศุลกากร จัดเก็บรายได้อยู่ที่ 79,025 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,735 ล้านบาท แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 8,034 ล้านบาท หรือ 9.2%

นายพรชัย กล่าวว่า รายได้รัฐบาลสุทธิจัดเก็บรายได้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.5% อย่างไรก็ดี ฐานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้พิเศษรวม 53,130 ล้านบาท หากไม่รวมรายได้พิเศษดังกล่าว รายได้รัฐบาลสุทธิจะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.8%

ส่วนฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนของปีงบประมาณ 67 (ต.ค. 66–พ.ค. 67) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1.62 ล้านล้านบาท ขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 2.2 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 420,170 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 67 มีจำนวนทั้งสิ้น 394,260 ล้านบาท

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 ข่าวการเงินกรุงเทพธุรกิจ      ติดต่อเรา   SiteMap