GC เปิดตัว “ณะรงค์ศักดิ์-ทศพร” โชว์วิสัยทัศน์เดินหน้าผลักดันนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

2024-06-19 HaiPress

GC เปิดตัว “ณะรงค์ศักดิ์ - ทศพร” ซีอีโอ – เพรสสิเด้นท์ใหม่ โชว์วิสัยทัศน์เดินหน้าผลักดันนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ของประเทศไทย เป็นฮับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมูลค่าสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมใช้ “ออลเน็กซ์ โฮลดิง” ดึงการลงทุนในไทย คาดเห็นผลชัดเจนอีก 1 ปี สานต่อกลยุทธ์ 3 Steps Plus รักษาฐานให้แข็งแรง เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี เปิดวิสัยทัศน์การบริหารงานครั้งแรก ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นซีอีโออย่างเป็นทางการเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ร่วมกับนายทศพร บุณยพิพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ ยืนยันสานต่อกลยุทธ์ “3 Steps Plus” เสริมศักยภาพในการแข่งขัน และการเติบโตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป พร้อมผลักดันนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดให้มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นศูนย์กลาง (Hub) ด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมูลค่าสูง สำหรับการส่งออกสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพัฒนา Strategic Partnership เพื่อตอบสนองเมกะเทรนด์ของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตสู่การเป็นฮับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ยังเน้นสร้าง Synergy ปรับพอร์ตโฟลิโอ มุ่งสู่กลุ่มธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและคาร์บอนตํ่า รุกธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ด้วยบริษัท ออลเน็กซ์ โฮลดิง และ บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์รวมทั้งพร้อมทำงานร่วมกับกลุ่ม ปตท. ในโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจแห่งอนาคต

ทิศทางธุรกิจของจีซีในอนาคต ยังคงสานต่อกลยุทธ์ 3 Steps Plus ประกอบด้วย Step Change,Step Out,Step Up เพื่อเสริมศักยภาพแข่งขัน และการเติบโตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จะนำความพร้อมด้านนวัตกรรม ศักยภาพการผลิตผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์และพลาสติกชีวภาพ จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ของจีซีมาต่อยอดและตอบสนองแนวโน้มความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ตามเทรนด์โลก

โดยกลยุทธ์ Step Out หรือการสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ ถือว่ามีบทบาทอย่างมากต่อการเติบโตในอนาคตของบริษัทฯ โดยกลุ่มธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ จะมุ่งเน้นการขยายตลาดและสร้างสรรค์เคมีภัณฑ์ผ่าน บริษัท ออลเน็กซ์ โฮลดิง (allnex) ที่มีโรงงานและฐานธุรกิจสารเคลือบผิว (Coating Resins) อยู่ 34 แห่งทั่วโลก

สำหรับการพัฒนาฐานการผลิต ของออลเน็กซ์ ในทวีปต่างๆ นั้น ประสบความสำเร็จในการพัฒนา ไชน่า ฮับ จึงได้นำมาต่อยอดขยายฐานผลิตในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพการเติบโต ได้แก่ โรงงาน Mahad รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย และแห่งใหม่ในอนาคต โรงงานมาบตาพุด ประเทศไทย เพื่อเป็นฮับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เน้นผลิตภัณฑ์ในตลาดเคลือบผิวในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ บรรจุภัณฑ์ โลหะอุตสาหกรรม เฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งเคลือบผิวอาคารแบบพิเศษ

ด้านกลุ่มธุรกิจไบโอ และกรีน ซึ่งบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ ผู้ผลิตไบโอพลาสติกประเภทโพลิแลกติกแอซิด (PLA) ชั้นนำของโลก ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิดย่อยสลายได้ สามารถนำไปใช้ในหลากหลายแอปพลิเคชัน เช่น แคปซูลกาแฟ ถุงชา และ วัสดุสำหรับการพิมพ์ 3 มิติ ด้วยคุณสมบัติที่มีประสิทธิภาพเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์เทรนด์ความยั่งยืน โดยจีซี ถือหุ้น 50% ร่วมกับ Cargill อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานผลิต PLA ครบวงจรแห่งใหม่ ที่นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 68 เริ่มรับรู้รายได้ในปี 69 ซึ่งจะเป็นไบโอ คอมเพล็กซ์ แห่งแรกของประเทศไทย โดยใช้น้ำตาลจากอ้อยเป็นวัตถุดิบหลักเพื่อผลิต Lactic Acid ซึ่งนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต PLA มีกำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี ช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้าน Bio และ Green ของประเทศ สร้างโอกาสแก่ภาคเกษตรกรรมและพัฒนาเศรษฐกิจไปอีกขั้น จะทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกเพื่อตอบสนองความต้องการวัสดุเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Material) สู่ตลาดโลก

ในส่วนของกลยุทธ์ Step Up หรือการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจจีซีนั้น เป็นการสานต่อแนวทางการบูรณาการหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้กรอบของ ESG สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล พร้อมเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ( เน็ท ซีโร่ ทาร์เก็ต) ภายในปี พ.ศ. 2593 แนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การทำงานร่วมกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. ในโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ทั้งในการศึกษาเรื่อง Carbon Capture Technology ผ่านการลงทุนใน Corporate Venture Capital (CVC) และการศึกษาโอกาสในการนำไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำไปใช้และพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจแห่งอนาคต

ทั้งนี้โดยสรุปแนวทางการสร้างการเติบโตของจีซี ช่วงครึ่งหลังปี 67 เน้น 2 ด้านคือ 1. ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง และคาร์บอนต่ำ ด้วยการต่อยอดธุรกิจผ่านออลเน็กซ์ ตามแนวทางกลยุทธ์การปรับพอร์ตธุรกิจของ จีซีให้มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง จำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง

2. ยกระดับสร้างโอกาสการลงทุนในมาบตาพุด รองรับการขยายตัวการลงทุนและเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว และคาดว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) เติบโต ที่ 4.6% จีซีจึงวางแผนสรรหา และพัฒนา Strategic Partnership ดึงดูดการลงทุนธุรกิจ High Value/ Specialty Chemicals สนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มจะสร้างฐานการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ด้วยจุดแข็งของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดในด้านความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและทำเลที่ตั้งอันเป็นศูนย์กลางการส่งออกสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตลาดโลก วันนี้เราจึงได้เห็นแนวโน้มความสนใจการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ทันสมัยเกิดขึ้นมากมายในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน และมองว่า อัตราการใช้เคมีภัณฑ์ต่อประชากรยังมีโอกาสเติบโตอีกมากเมื่อเทียบกับทวีปอื่นๆ ซึ่งจีซี มีศักยภาพและความพร้อมตอบสนองความต้องการและสามารถร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมได้หลากหลาย จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจของจีซี โดยขณะนี้จีซีอยู่ระหว่างการวางแผนให้มาบตาพุดเป็นฮับ ซึ่งคาดว่า อีก 1 ปีกว่าข้างหน้าจะมีความชัดเจน”

นายทศพร บุณยพิพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) คนใหม่ กล่าวถึงกลยุทธ์ Step Changeว่า แนวทางที่สำคัญยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และการรักษาฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งอย่างรอบด้านของ GC จะเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุนการผลิตและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยง Value Chain ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด รวมถึงสามารถรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เคมีมูลค่าสูงที่เกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ในอนาคตได้เป็นอย่างดี นับเป็นการบริหารการลงทุนอย่างครบวงจรเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 ข่าวการเงินกรุงเทพธุรกิจ      ติดต่อเรา   SiteMap